Register LOGIN Forget password ?
:: Special Scoops :: Aprilia RSV1000 Mille Model 1999
Guest View : 8,468 / Last update : 8/11/2006

Aprilia RSV1000 Mille Model 1999

Editor : Banana & Rider 11

ผมเคยคิดกะอีตา banana ไว้ว่าเมื่อไหร่มีโอกาสนะ จะทำคอลัมน์เทสต์รถ แบบในเมืองนอกเค้าเทสต์กัน เอาฟิลลิ่งที่ขี่จริงๆ มาเล่าให้ฟังในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจและเห็นภาพตาม ไม่ใช่แค่แปลจากหนังสือต่างประเทศแบบก๊อปมาทั้งดุ้น แล้วก็มีแต่ข้อมูลทางเทคนิคที่อ่านแล้วมึนเข้าไปอีก (เผลอๆ แปลผิดอีก เวรกรรม โถ… ชีวิตสิงห์นักบิดไทย )

ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรดลใจ ในที่สุดพี่ไก่แห่ง Red Baron ก็ยอมให้เราเอารถมาลองขี่แบบเจ้าตัวยังงงๆ อยู่เหมือนกันว่าทำไรลงไป!! ก็คิดกันอยู่นานเหมือนกันว่าจะเอาอะไรมาลองกันดี Gixxer หรือ CBR1000 แต่ไอ้พวกนี้มันเห็นบ่อยแล้ว เหลือบไปเห็นเจ้า Aprillia ที่จอดดำทะมึนอยู่ข้างเสา เฮ้ย…ไอ้นี่แหละ อยากรู้มานานแล้วว่าฟิลลิ่งมันเป็นไง ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Torque คงพอนึกถึงรถมอไซค์ของพระเอกออก Aprillia RSV1000 Mille พี่ไก่ให้ฉายาว่า “ไอ้แก่” (อืมม…ชื่อโหดมากครับพี่ ) เดินผ่านไปผ่านมาตั้งหลายครั้งแต่ไม่เคยพินิจพิจารณาอย่างใกล้ชิดซักที ถ้าดูกันแบบเผินๆ แบบที่เรามองรถญี่ปุ่นทั่วไปจะรู้สึกว่าไอ้เจ้า Mille คันนี้ไม่เห็นจะดึงดูดสายตาอะไร แฟริ่งรูปทรงรถก็ดูธรรมดาไม่ได้โฉบเฉี่ยว ช่วงหน้าดูทู่ๆทื่อๆ ได้เด่นตรงที่ไฟหน้า 3 ดวง แต่พอมองกันแบบลงรายละเอียดจะเห็นได้ว่า เออ…รถมันอิตาเลี๊ยน อิตาเลี่ยน เนาะ อย่างเช่น เฟรมกับสวิงอาร์ม ขนาดใหญ่ให้ความบึกบึนแต่ออกแบบรูปทรงให้มีส่วนเว้าส่วนโค้งดูนุ่มนวลอย่างลงตัว หรือแฟริ่งถ้ามองชายล่างบริเวณที่คลุมท่อไอเสียอยู่จะเห็นรูปทรงและเส้นสายที่สวยงาม และจุดที่ผมชอบสุดเลยคือ…ตูด ครับทั่น อุตส่าห์ออกแบบฝาครอบไฟท้ายที่ชวนให้นึกถึงท่อไอพ่นของเครื่องบินซะจริงๆ หรือแม้แต่การให้สีไม่เน้นหวือหวาแต่หนักแน่น ดำทะมึนตัดด้วยแดงแปร๋นๆ แต่สุดท้ายสายตาดันไปสะดุดกับพักเท้าคนซ้อน พระเจ้าช่วยกำลังเคลิ้มๆ เจอขายึดพักเท้าคนซ้อนเข้าไปตื่นเลย ดีไซน์พี่แกเล่นเอามาแปะเป็นแผ่นๆซะงั้นแหละ อารมณ์ศิลปินจริงๆพ่อคู๊ณ…

จากดีกรีรถแชมป์เวิลด์กรังปรีซ์ 5 ปีซ้อน ( 2 จังหวะ ในรุ่น 125 ซีซี และ 250 ซีซี ) กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของทีมผู้ออกแบบในการพัฒนารถมอเตอร์ไซค์จากแดนอิตาลีตระกูล Aprilia ที่มุ่งมั่นในการออกแบบ สุดยอดรถโอเพ่นคลาส 4 จังหวะ พิกัดใหญ่สุดของค่าย Aprilia RSV1000 Mille ซึ่งออกวางตลาดครั้งแรกในปี 1998 โดยทีมออกแบบซึ่งอัดอั้นในระยะเวลาอันยาวนานที่รถจากค่ายนี้ ไม่เป็นที่นิยมของตลาดมากเท่าไหร่นัก จึงละเลงทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ลงบนรถรุ่นนี้ พร้อมกับยัดสารพัดอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ลงบนตัวรถ ตามสไตล์รถอิตาลีที่ว่า แรงน้อยกว่าญี่ปุ่นไม่เป็นไร แต่ไฉไลที่อุปกรณ์ที่ให้มาแบบเต็มๆ

Aprilia RSV1000 Mille เป็นรถในสไตล์ Replica Design
ดังนั้นรูปทรงภายนอกจึง ละม้ายคล้ายรถที่อยู่ในสนามแข่ง อุปกรณ์ส่วนควบหลายชิ้น ออกแบบมาให้ง่ายต่อการถอดออกจากตัวรถ เพื่อที่จะได้พร้อมที่สุดในการลงไปละเลียดโค้งไฮสปีดในแทรคแข่งขัน เราลองมาดูตัวรถกันก่อน ว่ามีอะไรที่เป็นจุดเด่น น่าสนใจกันบ้าง

เริ่มต้นที่โคมไฟหน้าทรงบิกินี่ แยกโคมส่องสว่างออกเป็นสามชุด สองดวงบนคือไฟสูง ดวงข้างล่างคือไฟต่ำ ดีไซน์โคมสะท้อนแสง เรียบง่าย แผ่นใสหน้าโคมไฟก็เรียบเช่นกัน

โคมไฟท้าย ดีไซน์แปลกตา ดูคล้ายส่วนปลายของเครื่องยนต์เจ็ท ส่วนไฟเลี้ยว ดูจะเป็นจุดบอดสุดของรถรุ่นนี้ เพราะดูยังไง ก็ไม่เข้ากับตัวรถ ซึ่งโคมไฟเลี้ยว คงเป็นส่วนเกินของรถรุ่นนี้ เพราะคนที่ขี่รุ่นนี้ส่วนใหญ่ คงซ่าในสนามมากกว่าถนนอยู่แล้ว

บังโคลนหน้า ดีไซน์ทรงธรรมดา บังโคลนหลังมีสองชิ้น คือชิ้นที่ติดกับสวิงอาร์ม ดูจะทำงานได้ผลมากกว่าชิ้นที่อยู่ใต้ไฟท้าย ซึ่งออกแบบมาให้ถอดเก็บไว้ที่บ้านได้ในเวลาอันสั้น

ระบบเบรคหน้าสะดุดตาที่คาลิเปอร์เบรคแดงเดือดยี่ห้อ Brembo แบบสี่พอทต่อข้าง แต่ละข้างมีลูกสูบสองขนาด คือตัวบน 34 มม. และตัวล่าง 30 มม. ส่วนมาสเตอร์เบรคก็ยังคงเป็น Brembo เช่นกัน จานเบรคคู่แบบโฟล์ทติ้งดิสก์ขนาด 320 มม.

ระบบเบรคหลัง ตัวมาสเตอร์และคาลิเปอร์สีแดงสะใจของ Brembo ส่วนจานเบรดขนาด 220 มม คาลิเปอร์หลังแบบสองลูกสูบ ขนาด 32 มม.

ช๊อคอัพหน้าแบบหัวกลับ ตัวกระบอกสีดำเข้ากับตัวรถ ขนาดแกน 43 มม. พร้อมใส้ในที่เคลมว่า ผลิตจากโรงงาน Ohlins พร้อมรองรับการขับขี่ที่ดุดัน เหนือกว่าช๊อคอัพสแตนดาร์ดติดรถยี่ห้อปกติทั่วไป พร้อมติดตั้งกันสะบัดช่วงชักสั้นซ่อนไว้ใต้แผงคอรถ กันอาการพยศยามรถเสียสมดุลย์

ช๊อคอัพหลังในรถคันนี้ ยี่ห้อ SACHS อุปกรณ์ปรับตั้งบนตัวช๊อค ชุบอโนไดซ์สีแสบตาสารพัดสี ทั้งขาว แดง และน้ำเงิน

หม้อน้ำระบายความร้อนสองใบวางแนวตั้งหน้าเครื่องยนต์ เอียงองศารับลมจากด้านหน้ารถเต็มที่ พร้อมแผลออยล์คูลเลอร์ ระบายความร้อนจากน้ำมันเครื่องอีกหนึ่งชุดด้านล่างสุด - สวิงอาร์มอลูมิเนียมดีไซน์ทรงรถแข่ง WGP ที่ด้านขวาต้องยกเว้าหลบคอท่อไอเสีย แต่ยังคงสมรรถนะสมดุลย์ได้อย่างยอดเยี่ยม

ท่อไอเสียแบบ สองออกหนึ่ง เท่ห์ไม่เหมือนใคร ตรงที่เป็นท่อแบบ Slip-on ยึดระหว่างคอท่อหน้ากับปลายท่อด้วยสปริง ให้อารมณ์รถแข่ง แบบที่ไม่มีรถตลาดค่ายไหนทำออกมาให้ใช้กัน พร้อมปลายซับเสียงขนาดใหญ่โตมโหฬาร สุ้มเสียงแตกพร่า พิกลๆ ไม่เหมือนวีทวินค่ายญี่ปุ่น

เมนเฟรมอลูมิเนียมอัลลอยล์ดีไซน์สไตล์รถแข่ง ดูหนาแน่น แข็งแรง

เรือนไมล์ดิจิตอล พร้อมฟังก์ชั่นใช้งานครบครับและล้ำยุคที่สุดในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น Shift Light ที่ปรับตั้งรอบการทำงานได้, Lap timer, Volt Meter, Speed meter และ Trip meter ที่เซ็ทได้ว่าจะใช้หน่วยเป็นไมล์ หรือกิโลเมตร , Temp. Meter รายงานอุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์ รวมไปถึงนาฬิกาบอกเวลา ทั้งหมดแสดงผลผ่านจอ LCD ขนาดใหญ่ ปรับเซ็ตด้วยปุ่มด้านล่างจอและยังคงมีเรือนวัดรอบแบบเข็มที่ยังไงก็ใช้งานง่ายกว่าวัดรอบดิจิตอล

ชุดพลาสติคแฟริ่งรอบคัน ออกแบบมาดูแปลกๆ สไตล์รถอิตาลี ที่ผู้ซื้อรถต้องตั้งคำถามเสมอเวลาเห็นรถรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ว่า ออกแบบมาได้อย่างไร แต่เท่าที่พิจารณา คาดว่าออกแบบมาโดยคำนวนจากหลักอากาศพลศาสตร์ ที่ด้านหน้าอ้วนป้อม แต่ท้ายเรียวมน ไม่แหลมเฉี่ยวเหมือนดีไซน์รถสปอร์ตในปัจจุบัน สีที่ออกมามีให้เลือกแค่สีเดียว คือ ดำ-แดง เท่านั้นเอง

ถังน้ำมันทรงอ้วนหนา ความจุ 20 ลิตร ติดสติ๊กเกอร์ด้านหน้าฝาปิดช่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ให้คนขี่ระลึกเสมอว่า รถค่ายนี้ เป็นแชมป์โลกมาแล้ว 5 สมัยนะเฟ้ย สงสัยว่าจะเป็นคล็ดลับเพิ่มความแรงให้กับตัวรถ เพราะมันอาจทำให้คนขี่ ฮึกเหิมได้ชั่วขณะ

ตรวจเช็ครถเป็นครั้งสุดท้ายโดยมือคุณวิกรม เรดบารอน ผู้เอื้อเฟื้อของแปลกหาดูยากคันนี้ตอนค่ำวันศุกร์ ออกจากเรดบารอนมาได้ ก็พุ่งเข้าปั๊มน้ำมันก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อเติมน้ำมัน ซึ่งรถรุ่นนี้ ระบุในคู่มือว่า ต้องเติมเบนซินไร้สารตะกั่ว ออคเทน 95 เท่านั้น จากนั้นก็เข้าสู่ดงรถติดบนถนนสุขาภิบาลสาม เพื่อมุ่งหน้าเอารถไปเก็บที่บ้านพายุย่านรามอินทรา

Riding position ของรถรุ่นนี้ที่ออกแบบมาให้ฝรั่งขี่
ผมเองที่มีความสูงประมาณระดับคิ้วของวาเลนติโน รอสซี่ จึงต้องจัดวางตัวเองเสียใหม่ ก่อนจะมุดลัดเลาะบนท้องถนน ระดับกระจกทรงพิลึกบนตัวรถที่ตอนแรกคิดไว้ว่าน่าจะเป็นอุปสรรคในการขับขี่ กลับไม่มีปัญหาอะไรกับฝูงรถเก๋งความสูงปกติ ทัศนวิสัยการมองเห็นด้านหลังของกระจกส่องหลังอยู่ในระดับเยี่ยม แต่สิ่งที่กลายมาเป็นสิ่งสนใจของผมกลับกลายเป็นการคอนโทรลรอบเครื่องยนต์ของเครื่องวีทวิน ที่ถึงแม้จะเคยขี่สปอร์ตวีทวินญี่ปุ่นมาแล้วเกือบครบทุกรุ่น แต่ RSV คันนี้ กลับคอนโทรลได้ง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะ ง่ายกว่า TL1000R แต่ก็ไม่ขนมเหมือน VTR1000F ซึ่งสาเหตุของอาการกระโดดจากรอบเครื่องยนต์ เกิดจากลักษณะของเครื่องยนต์ทรงสูบวี ที่มีเพลาข้อเหวี่ยงขนาดใหญ่ ช่วงชักยาว เลยทำให้แรงบิดที่ได้จากเครื่องยนต์ออกมาแบบเนื้อๆ รู้สึกได้ชัดว่าต่างจากเครื่องยนต์แบบสูบเรียงในคลาสเดียวกัน แต่พอเริ่มคุ้นกับอัตราเร่งและแรงบิดของมันแล้ว คราวนี้ก็ถึงทีของระบบช่วงล่าง ที่พูดตรงๆว่า ขี่บนถนนลื่นๆเมืองไทย ไม่ค่อยน่าไว้ใจเท่าที่ควร คงต้องปรับเซ็ทกันอีกซักยก ถึงจะรับกับพละกำลังที่ถ่ายจากเครื่องยนต์ลงสู่ล้อ

เช้าตรู่วันเสาร์ แต่งองค์ทรงชุดหนังเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ก็สตาร์ทรถ
วอร์มเครื่องยนต์ให้อุ่นพอไม่ลวกปาก ขี่ออกจากบ้าน ผ่านป้อมยามที่ทำหน้าสงสัย " อาทิตย์นี้ ขี่รถแปลกๆอีกแล้ว" เจอโค้งแรกหน้าหมู่บ้าน ต้องย่องเข้าไป ปล่อยให้สัมผัสของเราปรับตัวเข้ากับรถอีกซักครู่ จนออกสู่ถนนใหญ่ ทัศนวิสัยตอนกลางวัน ทำให้สามารถเล่นกับรถได้มากกว่าเมื่อคืนวาน ช่วงทางตรงเลียบวงแหวนตะวันออก ลองกดไล่ที่เกียร์สุดท้าย จากความเร็ว 100 กม/ชม จนตัวเลขบอกความเร็วไปป้วนเปี้ยนแถว 250 กม/ชม. ก็หมดถนน จึงกลับเข้าสู่การขับขี่แบบปกติ จนถึงสนาม BRC.

ความคุ้นเคยที่ยังอุ่นๆจากช่วงระยะทางจากบ้านมาสนาม จึงลงไปวอร์มอัพรถกับสนามแข่งอีกครั้ง เพื่อจับอาการของระบบช่วงล่าง เบรค และอัตราเร่งที่สัมพันธ์กับรอบการทำงานของเครื่องยนต์อีกครั้ง จนเริ่มเมื่อยข้อมือ จึงเข้ามาพัก เพื่อตรวจสอบตัวรถอีกครั้งว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่

ออกจากพิทเข้าสู่แทรคอีกครั้งในรอบที่สอง คราวนี้ จับนิสัยใจคอของเจ้าตัวนี้ได้พอสมควร จึงเริ่มเพิ่มความเร็ว และปรับเปลี่ยนไลน์การขี่จากไลน์ปกติ รวมถึงจุดเบรคที่ลองสลับจุดเบรค เพื่อหาฟีลลิ่งที่แท้จริงของเจ้าตัวนี้ว่า มันน่าจะขี่ยังไง ถึงจะมันส์กับมันได้สมเหตุผลที่สุด รอบเครื่องยนต์ในช่วงต้นถึงกลาง กับแรงบิดที่ถ่ายทอดผ่านล้อหลังลงสู่พื้นแทรค ยังคงเอกลักษณ์นิสัยของเครื่องวีทวินทั่วไป จัดอยู่ในประเภท รอบไม่มา ม้าไม่กระโดด การขี่ในโค้งแคบๆ จึงต้องคอนโทรลรอบเครื่องยนต์ให้นุ่มนวลที่สุด อย่าปล่อยให้เข็มวัดรอบวูบลงต่ำกว่าสองพันรอบเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นในจังหวะเปิดคันเร่งแรงๆออกจากโค้ง จะมีช่วงกระตุกสั้นๆ ซึ่งถ้าคนไม่คุ้นเคย อาจจะยกคันเร่งในทันทีที่ม้ากำลังออกจากคอก ผลก็คืออาจทำให้รถดีดจนหงายหลังลงสัมผัสพื้นแทรคได้ง่ายๆ

ระบบช่วงล่างของ RSV น่าจะออกแบบมาให้ขี่แบบดุดันในสนาม มากกว่าขี่กินลมชมวิวบนถนน อาการใจหวิวตอนรถเลื้อยในโค้งหายไปต่างจากค่ำวานนี้ ลองเพิ่มความเร็ว และกดรถในโค้งแบบหนักๆ ช่วงล่างของรถตัวนี้ก็ยังเอาอยู่ แต่ยังมีอาการวูบวาบนิดหน่อยในโค้งซ้าย ช่วงที่รถเอียงมากๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากยางติดรถที่มีอายุนานเกินไป

เสียงเครื่องยนต์ ยังคงดังเป็นเอกลักษณ์ของรถจากอิตาลี ทั้งๆที่รถคันนี้ จัดว่ายังสดมาก เพราะระยะทางที่วิ่งไปแค่ สองพันกว่ากิโล ดังนั้นอัตราเร่ง แรงบิด ความฟิตของเครื่องยนต์น่าจะอยู่ในช่วงที่เรียกว่า เหมาะมือที่สุด เพราะเพิ่งพ้นระยะรันอินมาไม่นาน ม้าทั้ง 128 ตัว ยังฮึกเหิมเต็มที่

มาว่ากันถึงฟิลลิ่งการขี่ของมันกันบ้าง
สำหรับเจ้าคันนี้ผมขอพูดถึงฟิลลิ่งในการขี่ในสนามเป็นหลักละกันเพราะไม่มีโอกาสได้ขี่บนถนน ความรู้สึกแรกพอขึ้นไปนั่งคร่อมบอกได้เลยว่าสัดส่วนมันจะไม่ได้ใหญ่ไปกว่ารถญี่ปุ่นในปีเดียวกัน (‘98-’99) เลย สตาร์ทเครื่องปั๊บ โฮ่… ผมว่า “ไอ้แก่” ของพี่ไก่คันนี้ไม่ธรรมดาซะแล้ว เสียงเครื่องยังแน่นใช้ได้เลย นี่ขนาดท่อเดิมนะ สำหรับฟิลลิ่งการขี่ถ้าใครไม่เคยขี่รถสไตล์วีทวินอาจจะไม่คุ้นคงจะต้องใช้เวลาปรับตัวพอควร เพราะให้ความดุดันแบบดิบๆ ตามลักษณะของเครื่องยนต์ประเภทนี้

ช่วงแรกจะเป็นการขี่วอร์มประมาณ 2-3 รอบ
โดยจะใช้ความเร็วต่ำ รู้สึกว่ารอบเครื่องไม่จี๊ดจ๊าดขนาดรถญี่ปุ่นจึงไม่ต้องระวังมากกับการใช้คันเร่ง ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่ของการใช้งานในเมืองทำให้ผู้ขี่ไม่ต้องพะวงกับการใช้คันเร่งจนหมดสนุกกับการขับขี่ ตำแหน่งท่านั่งออกแนวก้มตามสไตล์รถสปอร์ต แต่รู้สึกว่าช่วงถังยาวกว่ารถญี่ปุ่นเล็กน้อย ทำให้โน้มตัวไปข้างหน้าส่งผลให้ช่วงลำตัวมีลักษณะก้มกว่าปกตินิดหน่อยแต่อยู่ในเกณฑ์รับได้ เบรกคืออีกจุดที่ผมประทับใจมากหลังจากได้ลองขี่เจ้านี่ Bremboที่ติดมากับรถคันนี้ให้ฟิลลิ่งการหยุดรถที่ประทับใจจริงๆ แค่นิ้วเดียวก็ลดความเร็วได้ดั่งใจ (อืม...ของแพงมันดีอย่างนี้นี่เอง) เอาหล่ะ...พอปรับตัวแล้วก็เริ่มใช้ความเร็วสูงขึ้น พอเริ่มลากรอบขึ้นสูงตั้งแต่ 6,000 rpm ขึ้นไปไอ้เจ้า Mille คันนี้เริ่มจะแสดงพลังอิตาเลี่ยนออกมาให้เห็น โดยช่วงออกจากโค้งซึ่งเป็นจุดที่จะเร่งสปีดรถขึ้นไปเจ้า Mille ตัวนี้พุ่งออกจากโค้งได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง ชนิดที่รถสปอร์ตตัวใหม่ๆต้องหันมาค้อน “ไอ้แก่” คันนี้เลยหล่ะ ท่านั่งที่ไม่เป็นเรซซิ่งจนเต็มตัวทำให้เราขี่ได้อย่างสนุกและไม่เครียด พอเริ่มชินกับตัวรถจะรู้สึกเลยว่ามันพลิกพลิ้วได้ง่ายกว่าที่เรารู้สึก ออกจากโค้งสุดท้ายรอบเครื่องอยู่ป้วนเปี้ยนแถว 6-7000 rpm กระแทกคันเร่งสู่ทางตรงในระยะทางเท่าที่สนามมีให้ไม่เกิน 200 เมตร โอ้ว...กำลังเครื่องรุนแรงกว่าที่คิดและยังลากไปได้เรื่อยๆ โยนความรู้สึกตอนขี่รอบต่ำทิ้งไปได้เลยเพราะมัน”จี๊ด”แบบคนละเรื่อง แล้วที่ลืมไม่ได้อีกอย่างคือเบรก แม้จะยัดเข้ามาในโค้งแรงแค่ไหนใช้แค่สองนิ้วก็สามารถคุมความเร็วเพื่อเข้าโค้งได้อย่างต้องการ

เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกที่เคยขี่
VTR1000SP-1 คู่แข่งเจ้าตัวนี้จากค่ายปีกนก และ TL1000R จากค่ายซูซูกิ ผมว่า เจ้า RSVอยู่ระหว่างกลางครับ เพราะมันพริ้วได้ไม่สนุกเหมือน SP-1 แต่ก็ยังขี่ง่ายกว่า TL ฟีลลิ่งเครื่องยนต์ยังไม่ดุดันเท่า TL แต่ก็ไม่นุ่มนวลเท่า SP-1 ระบบช่วงล่าง ถ้านับสแตนดาร์ดด้วยกัน เจ้า RSV เหนือกว่าเจ้าสองตัวที่ว่า เพราะทั้ง SP-1 และ TL กว่าจะซัดได้สนุกในโค้ง ก็ต้องเซ็ทกันพอสมควร แต่เจ้าตัวนี้ " ซัดได้เลย" ใครสนใจอยากได้ของแปลกคันนี้ไว้ครอบครอง โปรดติดต่อที่ Red Baron Bangkok ครับ

สรุปโดยรวมของเจ้า Aprillia คันนี้
เป็นรถที่ดูเผินๆอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้ามองรายละเอียดในแต่ละจุดคุณจะเห็นงานศิลปะสไตล์อิตาลีในทุกมุมมอง ในส่วนฟิลลิ่งการขับขี่ เป็นรถสปอร์ตที่ยิ่งขี่ยิ่งสนุกและพริ้วกว่าที่คุณคิด ไม่จัดจ้านจนทำให้รู้สึกเครียดบวกกับมีออพชั่นติดรถที่สามารถรองรับความแรงของกำลังเครื่องยนต์ได้อย่างอยู่มือ ผู้ขี่จึงสามารถมั่นใจได้ว่าคุณจะสามารถรับมือกับม้าป่าพลังสปาเก็ตตี้นี่ได้แน่นอน

ขอขอบพระคุณ คุณวิกรม มนตรีโชค แห่ง Red Baron Bangkok
ที่เอื้อเฟื้อรถคันนี้มาให้เราได้ทดลองขี่กัน ส่วนในคราวหน้า เราจะทดลองขี่รถคันไหน โปรดอดใจไว้ติดตามต่อไปครับ

ข้อมูลทางเทคนิค Aprilia RSV1000 Mille Model 1999
เครื่องยนต์ สี่จังหวะ สองสูบ วี 60 องศา AVDC (anti vibration double countershaft ) ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาร์พ 4วาล์วต่อสูบ
ระบบระบายความร้อน วงจรระบายความร้อนด้วยน้ำแบบสามทาง พร้อมแผงรังผึ้งหม้อน้ำคู่ และแผง Oil cooler อีกหนึ่งใบ
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 97 x67.5 มม.
ความจุกระบอกสูบ 997.62 CC.
อัตราส่วนกำลังอัด 11.40 : 1
แรงม้าสูงสุดที่ข้อเหวี่ยง 128 HP ที่ 9250 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุดที่ข้อเหวี่ยง 10.50 กิโลกรัม/เมตร ที่ 7000 รอบต่อนาที
ระบบเชื้อเพลิง หัวฉีดอิเลคโทรนิค ขนาดช่องทางเดินไอดี (ลิ้นปีกผีเสื้อ) 51 มม. ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว อ๊อคเทน 95 เท่านั้น
ระบบจุดระเบิด ดิจิตอลอิเลคโทรนิค 2 หัวเทียน (TSI System) ต่อสูบ สัมพันธ์กับระบบหัวฉีดอิเลคโทรนิค
ระดับเกียร์ 6 สปีด
ระบบขับเคลื่อน ใช้โซ่ ขนาด 525 สเตอร์ 17/42
ระบบคลัทช์ ระบบคลัทช์เปียก หลายแผ่นซ้อนกัน พร้อมระบบทดแรงกดด้วยไฮโดรลิค (คลัทช์น้ำมัน)
เฟรม+ซับเฟรม อลูมิเนียมอัลลอยล์ PERALUMAN 350
ความยาวตัวรถ 2070 มม.
ความกว้างตัวรถ 725 มม.
ความสูงตัวรถ 1180 มม.
เบาะสูง 825 มม.
ความสูงแฮนเดิ้ลบาร์ 850 มม.
ระยะฐานล้อ 1415 มม.
ระยะเทรล 97 มม.
มุมแคสเตอร์ 24.50 องศา
ระบบกันสะเทือนหน้า ช๊อคอัพแบบหัวกลับ ขนาด 43 มม. ระยะเคลื่อนที่ 120 มม. ปรับตั้งได้สามอย่าง (รีบาวน์ คอมเพรสชั่น และพรีโหลด)
ระบบกันสะเทือนหลัง - สวิงอาร์มอลูมิเนียมอัลลอยล์ ดีไซน์แบบสองข้างไม่เหมือนกันเพื่อการปรับตั้งระดับของอุปกรณ์
- ชุดกระเดื่องทดแรง APS System
- ช๊อคหลังไฮโครลิค (น้ำมัน) ช่วงยุบ 50 มม. ปรับตั้งได้สี่อย่าง (คอมเพรสชั่น - รีบาวน์ - สปริงพรีโหลด - ความยาว)
เบรคหน้า จานดิสก์เบรคสแตนเลส ขนาดกว้าง 320 มม. คาลิเปอร์สี่ลูกสูบต่อข้าง (ลูกสูบสองขนาด/ข้าง : 34/30 มม.)
เบรคหลัง จานดิสก์เบรคสแตนเลส ขนาดกว้าง 220 มม. คาลิเปอร์สองลูกสูบ ขนาด 32 มม.
วงล้อ อลูมิเนียมอัลลอยล์ขนาด 17 นิ้ว ล้อหน้ากว้าง 3.50 นิ้ว ล้อหลังกว้าง 6.00 นิ้ว
ยาง Radial Tubeless ยางหน้า 120/70 ZR17 ยางหลัง 190/50 ZR17
น้ำหนักรถเปล่า 189 กิโลกรัม
ความจุถังน้ำมัน ทั้งหมด 20 ลิตร (สำรอง 4 ลิตร)
Privacy & Policy Statements Advertisement About StormClub.com Contact Stormclub.com